ออนไลน์บ้านผือนิวส์

โพลโค้งสุดท้าย ศึกชิงผู้ว่าฯกทม. ที่ยังแยกไม่ออกจากการเมืองภาพใหญ่


โพลโค้งสุดท้าย ศึกชิงผู้ว่าฯกทม. ที่ยังแยกไม่ออกจากการเมืองภาพใหญ่

ภายหลังจาก ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการสำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล ได้ลองวิเคราะห์ “คำตอบ” ที่อยู่เบื้องหลังผลสำรวจศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร 2565 กันไปแล้ว ในวันนี้ “เรา” ลองไปรับฟัง ทัศนะจาก รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล จากผลโพลศึกชิงเก้าอี้พ่อเมือง กทม. ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้กันดูบ้าง...

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ขั้วตรงข้ามการเมือง กับ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. :

“ส่วนตัวผมเชื่อว่า การเมืองภาพใหญ่ยังคงไม่สามารถแยกออกจากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ได้”

หากสังเกตดูดีๆ จะพบว่า ช่วงระยะเวลาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใกล้เคียงกับ การเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกทั้งหลังจากนั้นไม่นานก็จะเป็นช่วงเวลาสำหรับการตระเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้การเคลื่อนไหวที่อยู่เบื้องหลังจึงถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นเนื้อเดียวกันหมด

ฉะนั้น การขับเคลื่อนในเบื้องลึกของศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ จึงเป็นไปในลักษณะหวังกิน 2 เด้ง คือ ได้ทั้งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. และชัยชนะในสนามเลือกตั้งใหญ่

ทำให้แม้ว่าฉากหน้าของขั้วการเมืองฝ่ายเดียวกัน จะแลดูรักใคร่กลมเกลียวกันขนาดไหน แต่สำหรับการลงทำศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้แล้ว ทุกพรรรคการเมืองจะไม่มีทางยอมให้กันอย่างแน่นอน เพราะในเมื่อมีพื้นที่เปิดกว้างสำหรับการใช้กลยุทธ์สร้างฐานความนิยมในหมู่ประชาชน รวมถึงที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การมองไปข้างหน้าเรื่องอำนาจการต่อรองแล้ว ไม่ว่าจะพรรคร่วมรัฐบาล หรือพันธมิตรฝ่ายค้าน ก็เล่นกันเต็มที่แน่นอน

“บรรดาหัวคะแนน หรือผู้นำชุมชนที่จะมีการใช้ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ก็คือ คนคนเดียวกันกับที่จะถูกนำมาใช้ในสนามเลือกตั้งใหญ่ที่ใกล้จะมาถึง ฉะนั้นในความเห็นส่วนตัวผม การเมืองภาพใหญ่ยังไงๆ ก็แยกไม่ออกจากการเมืองระดับท้องถิ่น”

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. :

“หากสังเกตให้ดีๆ ในช่วงที่เหลืออีกเพียง 1-2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง คำถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัคร จะเริ่มดังขึ้น และดังขึ้นเรื่อยๆ”

การเมืองกับวังวนเกมการเมืองแบบน้ำเน่าเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเริ่มมีการตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัคร เช่น ที่ว่า “อิสระ อิสระจริงหรือไม่?” หรือ “ข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลเชื่อมโยงพรรคการเมือง หรือผู้สมัครหรือไม่?” ซึ่งการฉกฉวยโอกาสในทุกรูปแบบเช่นนี้มักเกิดขึ้นอยู่แล้วบ่อยๆ ในการเลือกตั้งของประเทศไทย ทำให้ผู้สมัครทุกคนจะต้องระมัดระวังและแก้เกมของฝ่ายตรงข้ามให้ทันท่วงที เพราะการพลาดพลั้งในช่วงโค้งสุดท้ายย่อมมีผลอย่างยิ่งต่อผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

เกมการต่อรอง :

“ตอนนี้น่าจะมีแต่คำถามที่ว่า ใจถึงหรือใจไม่ถึง”

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนี้ น่าจะเป็นเรื่องของการต่อรอง เพราะผู้ว่าฯ กทม. ว่างเว้นจากการเลือกตั้งมายาวนาน ฉะนั้นการต่อรองเรื่องข้อเสนอต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณสำหรับที่จะกระจายไปยังชุมชนต่างๆ ย่อมต้องเกิดขึ้น ทำให้ ณ เวลานี้น่าจะมีแต่คำถามที่ว่า “ใครใจถึงหรือใจไม่ถึง”

กลุ่มคนยังไม่ตัดสินใจ คือกลุ่มไหน :

“การควบคุมคะแนนเสียงในปัจจุบันมีความเป็นระบบและมีการตรวจสอบกันมากขึ้นกว่าในอดีตมาก ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความหวาดระแวงทางการเมืองขึ้น”

สำหรับกลุ่มคนที่ตอบโพลว่า “ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร” ซึ่งส่วนใหญ่จากผลสำรวจอยู่ในช่วงวัยตั้งแต่ 19-35 ปี เป็นหลักนั้น น่าจะตีความได้ 3 นัย คือ...

1. ยังตัดสินใจไม่ได้จริงๆ ว่าจะเลือกใคร ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สร้างความหนักใจทางการเมืองมากที่สุด เพราะทำให้ผู้สมัครที่มีฐานเสียงจากพรรคการเมืองเดาใจได้ยาก

2. ตัดสินใจเลือกไปแล้ว แต่เวลาตอบโพล กลับตอบว่า ยังไม่ตัดสินใจ ด้วยเกรงว่าฝ่ายขั้วตรงกันข้ามทางการเมืองเมื่อรู้ผลไปแล้วจะสามารถไปแก้เกมการหาเสียงให้ฝ่ายตัวเองได้

3. ต้องการรักษาอำนาจการต่อรองของตัวเองเอาไว้ให้นานที่สุดจนกว่าจะใกล้ถึงวันเลือกตั้ง

โควิด-19 กับ ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. :

“สำนักอนามัย กทม. ควรมีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนได้แล้วว่า จะไปเลือกตั้งอย่างไรให้ปลอดโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะใช้สิทธิ์”

คำตอบที่ได้รับจากการลงพื้นที่ทำผลสำรวจ พบว่า หนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะตัดสินใจว่า จะไปใช้สิทธิ์ในวันเลือกตั้ง 22 พ.ค.นี้หรือไม่ คือ ปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

ด้วยเหตุนี้จึงอยากวิงวอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างความชัดเจนรวมถึงหาทางอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สิทธิ์โดยเร็ว โดยเฉพาะเรื่องมาตรการต่างๆ ที่อาจจะต้องนำมาใช้ในบริเวณคูหาเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าในช่วงนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดจะเริ่มทุเลาลงบ้างแล้วก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะออกมาใช้สิทธิ์ในวันดังกล่าว "โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ" ที่กังวลกับประเด็นนี้มากที่สุด เพื่อให้การเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. คนกรุงเทพฯ จะได้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กันให้มากๆ.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ระเบิดเวลา PM 2.5 ลมหายใจที่หายไปกับฝุ่น

 

ข่าวแนะนำ

 

 

{Fullwidth}

Please Select Embedded Mode To Show The Comment System.*

ใหม่กว่า เก่ากว่า

สื้อโฆษณา

ออนไลน์บ้านผือนิวส์