ออนไลน์บ้านผือนิวส์

7 วิธีที่จะทำให้คุณเป็นคนที่ “ รับผิดชอบ “ มากขึ้น


 


            การจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ แน่นอนว่าหนึ่งองค์ประกอบที่จะขาดไปไม่ได้ ก็คือ “ ความรับผิดชอบ “ และแน่นอนว่าพอพูดถึงคำว่า “ ความรับผิดชอบ “ สิ่งแรกที่หลายคนคิดถึงขึ้นมาทันทีเลยก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง ความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานอยู่ในองค์กร ที่จำเป็นจะต้องรับผิดชอบหน้าที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมาย เพราะถ้าหากคุณไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้ เกิดผลกระทบกับบริษัทแน่นอน ลองคิดดูว่า ชิ้นส่วนงานของคุณเป็นเพดานของบ้านหลังหนึ่ง ถ้าคุณรับผิดชอบงานให้ออกมาดูดีไม่ได้ บ้านหลังนั้นจะสวยงามและแข็งแรงไหม ? หรือยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณเป็นผู้นำ แล้วคุณไม่มีความรับผิดชอบที่มากพอ แล้วธุรกิจของคุณจะสร้างผลลัพธ์ได้อย่างไร ?




 

             แต่ความรับผิดชอบก็ไม่ได้อยู่แค่กับหน้าที่การงานเสมอไป ในชีวิตของคนหนึ่งคนมีอะไรที่เราจะต้อง “ รับผิดชอบ “ มากกว่าแค่การหารายได้เลี้ยงชีวิตแลกครอบครัว การใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่น ล้วนตามมาด้วยความรับผิดชอบทั้งสิ้น คุณอยู่บ้านกับครอบครัว คุณมีหน้าที่อะไรที่ต้องรับผิดชอบกับครอบครัวบ้าง ? บางบ้านมีการแบ่งหน้าที่การรับผิดชอบงานบ้านอย่างชัดเจน เช่น คุณพ่อถูบ้าน คุณแม่ทำอาหาร คุณลูกซักผ้า แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งคุณลูกไม่รับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง คนทั้งบ้านจะเอาเสื้อผ้าสะอาดที่ไหนใส่ ? หรือถ้าคุณแม่ไม่รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง แล้ววันนี้ทั้งวันจะกินอะไรกัน ? หรือคุณอาจจะอยู่ในคอนโด คุณก็ต้องรับผิดชอบเรื่องเสียงจากห้องของตัวเอง ไม่ให้รบกวนเพื่อนบ้านห้องข้าง ๆ จะเปิดทีวีเสียงดังก็คงไม่เหมาะ

 

 


             ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เป็นความรับผิดชอบที่ต้องมีต่อสังคมที่คุณอยู่ด้วยทั้งนั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณจะต้องรับผิดชอบ ก็คือชีวิตตัวเองทั้งนั้น คุณดูแลตัวเองดีพอหรือยัง ? คุณมัวแต่ “ รับผิดชอบ “ หน้าที่ที่มีต่อคนอื่นจนคุณละเลยตัวเองมากเกินไปไหม ? คุณเอาแต่ทำงานทั้งวันทั้งคืน จนคุณลืมดูแลสุขภาพของตัวเอง จนวันหนึ่งร่างกายคุณล้มป่วยลงเพื่อส่งสัญญาณบอกคุณว่า ตัวคุณเองจะไม่ไหวแล้วนะ คุณมีเวลาดูแลสุขภาพจิตของตัวเองมากพอไหม ? คุณมีเวลามาออกกำลังกายให้ตัวเองหรือเปล่า ? คุณหาอาหารดี ๆ บำรุงตัวเองแล้วหรือยัง ?

 


 

             อ่านไปอ่านมาหลายคนอาจจะรู้สึกเหนื่อยกับสิ่งที่จะต้องรับผิดชอบทั้งหมดในชีวิตเหลือเกิน ทั้งหน้าที่การงาน ทั้งกับสังคมรอบตัว แล้วไหนจะของตัวเองอีก เมื่อมีเรื่องเยอะขนาดนี้ หลายคนอาจจะกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า  ทุกวันนี้ฉันรับผิดชอบมากพอหรือยัง ? ที่วันนี้ยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการนั่นเพราะยังมีความรับผิดชอบไม่พอหรือเปล่า ? วันนี้จะมีเทคนิค 7 ง่าย ๆ ที่จะพัฒนาความรับผิดชอบของตัวเองให้มีมากขึ้นกว่าเดิม

 

 


 

1 . รับผิดชอบคำพูด อารมณ์ และพฤติกรรมของตัวเอง

             ผลลัพธ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในชีวิตคุณ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ตาม ล้วนเป็นผลลัพธ์จากการกระทำบางอย่างของคุณทั้งสิ้น ดังนั้นอย่างแรกที่คุณจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญก่อนก็คือ การรับผิดชอบพฤติกรรมของตัวเอง ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนแปลง อยากจะพัฒนามากขึ้น การพํฒนาที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด คือการหันกลับมามองตัวเอง หันกลับมามองการกระทำของตัวเอง มาฟังคำพูดที่ตัวเองพูด มาสังเกตอารมณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในตัวเรา

             เพราะหลายครั้ง การรับรู้ตัวเองจากมุมมองของบุคคลที่หนึ่ง ไม่ได้ทำให้คุณเห็นสิ่งที่ตัวคุณเองทำได้มากเท่าที่คนอื่นเห็นแน่นอน และถ้าหากคุณไม่ฝึกที่จะหมั่นสังเกตตัวเองในมุมมองของบุคคลที่ 2 หรือ 3 ก็เหมือนกับคำเปรียบเทียบที่บอกว่า “ น้ำที่อยู่ข้างในขวด ไม่มีวันที่จะได้เห็นฉลากที่ติดไว้อยู่ด้านนอก “ คุณจะไม่มีวันมองเห็นจุดบกพร่องของตัวคุณเองเลย ในหัวสมองคุณอาจจะคิดว่านี่เป็นเรื่องปกติของคุณ แต่สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ สิ่งที่คุณกำลังแสดงออกอยู่ อาจจะกำลังสร้างผลลัพธ์แบบที่คุณไม่อยากได้อยู่ก็เป็นได้ แต่ด้วยความที่คุณเป็นน้ำในขวด คุณก็จะไม่ได้เห็นว่า การกระทำเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้คุณไม่ได้ผลลัพธ์ในแบบที่คุณต้องการอยู่จริง ๆ

             ดังนั้น “ การรับรู้ “ ตัวเอง ก็ถือว่าเป็นการรับผิดชอบอย่างหนึ่งแล้ว รับรู้คำพูดของตัวเอง รับรู้อารมณ์ของตัวเอง และรับรู้การกระทำของตัวเอง เพราะการรับรู้ คือการยอมรับ และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้แก้ไขหรือพัฒนาตัวเราในวันนี้ให้ดีขึ้นกว่าตัวเราจากเมื่อวานแล้ว

2 . หยุดกล่าวโทษคนอื่น

             หากคุณยังโทษคนอื่นไปทั่ว เห็นปัญหาอะไรก็เอาแต่ชี้หน้าคนอื่น โยนความผิดไปให้คนอื่น นั่นแปลความคุณกำลัง “ หลอก “ ตัวเองอยู่ว่า ตัวฉันเนี่ยแหละ เป็นสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุด ความผิดพลาดทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตฉันเป็นเพราะคนอื่นล้วน ๆ เพราะคนนั้นทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนนี้ทำแบบนี้ไม่ดี ดังนั้นถ้าหากคุณมีความคิดนี้อยู่ละก็ บอกตรงนี้ได้เลยว่า การพัฒนาจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะในเมื่อคุณไม่เห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่คุณจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุณเป็นอยู่ในปัจจุบันล่ะ ? คุณลองคิดดูว่า ชีวิตที่ไม่มีอะไรที่ต้องพัฒนาแล้ว ไม่มีอะไรจะต้องเปลียนแปลงแล้ว มันจะจืดชืดแค่ไหน คุณจะต้องอยู่กับสิ่งที่คุณเป็นในตอนนี้โดยที่ไม่ก้าวไปข้างหน้าเลย ไม่ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองเลยไปทั้งชีวิตอย่างงั้นหรือ ?

             นอกจากจะไม่พัฒนาแล้ว การโทษคนอื่นยังเป็นเหตุผลข้อสำคัญที่ทำให้หลายคนกลายเป็นคนที่ไม่รับผิดชอบ เพราะเมื่อไหร่ที่เกิดปัญหา แล้วมีใครคนใดคนหนึ่งพยายามชี้ไปที่คนอื่นโดยที่ไม่ชี้มาที่ตัวเองเลย นั่นหมายความว่า คน ๆ นั้นกำลังพยายามที่จะ “ ไม่รับผิดชอบ “ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น “ ไม่รับผิดชอบ “ ปัญหาตรงหน้าที่จำเป็นจะต้องแก้ไข เพราะในเมื่อตัวเขาไม่ใช่ต้นตอของปัญหา เขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง “ รับผิดชอบ “ สิ่งที่เกิดขึ้น จริงไหม ?

 3 . หยุดบ่น

             อาจจะฟังดูแล้วคล้าย ๆ กับการโทษคนอื่น แต่ความแตกต่างก็คือ การโทษคนอื่น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเกิดผลลัพธ์ทางลบออกมาเรียบร้อยแล้ว แต่การบ่นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขอแค่คุณเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ขัดหูขัดตา ไม่ถูกชะตาไม่ถูกใจ คุณก็สามารถที่จะ “ บ่น “ ได้แล้ว

             ที่การบ่นมีผลต่อความรับผิดชอบก็เพราะว่า การบ่นทำให้คุณเพ่งความสนใจไปที่คนอื่นมากจนเกินไป เพราะคุณเห็นว่าการกระทำบางอย่างของคนอื่น มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ คุณก็เลยบ่น และเมื่อคุณบ่นบ่อย ๆ เข้า นั่นอาจจะหมายความว่า คุณกำลังเพ่งความสนใจไปที่คนอื่นมากกว่าตัวเองอยู่ และเมื่อคุณไม่ได้โฟกัสที่ตัวคุณเองมากพอ โอกาสที่คุณจะปล่อยวาง หรือว่าละเลยหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองก็มีมากขึ้นตามไปด้วย เพราะว่าในหัวคุณเอาแต่คิดว่า ทำไมคนนั้นถึงไม่ทำบบนั้น ทำไมคนนี้ถึงไม่ทำแบบนี้ แทนที่คุณจะมีเวลาให้กับตัวเองนั่งไตร่ตรองว่า คุณจะสามารถทำอะไรได้บ้าง คุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง และเมื่อคุณลดการบ่นลง เชื่อได้เลยว่าคุณจะมองเห็นมากขึ้นแน่นอนว่า คุณจะทำอะไรเพิ่มขึ้นได้บ้าง คุณจะพัฒนาอะไรได้บ้าง และคุณจะรับผิดชอบอะไรได้บ้าง

 4 . จัดการให้ตัวเองมีความสุข

             อะไรมากเกินไปก็ไม่ดี ตึงเกินไปก็ขาดได้ หลายคนที่กำลังพัฒนาตัวเองอย่างเข้มข้นกำลังติดอยู่ในกับดักนี้โดยไม่รู้ตัว เพราะคุณอาจจะกำลังพยายามทำอะไรบางอย่างอยู่ หรือกำลังรับผิดชอบอะไรบางอย่าง “ มากเกินไป “ จนทำให้เกิดผลกระทบกับร่างกายและจิตใจของคุณได้

             ดังนั้นเทคนิคที่ 4 ก็คือ การสร้างความสุขให้กับตัวเองหรือก็คือ การรับผิดชอบตัวเองนั่นแหละ ซึ่งการจัดการความสุขให้ตัวเองก็น่าจะเป็นเรื่องง่ายของใครหลาย ๆ คน บางคนเล่นดนตรี บางคนออกกำลังกาย บางคนเล่นเกม บางคนดูหนัง / ซีรีส์ ฯลฯ แน่นอนว่าหลายคนอาจจะมีความเข้าใจว่าคนสำเร็จไม่ได้มีเวลาให้กับเรื่องที่ไม่สร้างผลลัพธ์แบบนี้ แต่ถ้าคุณลองคิดดู ถ้าคุณเป็นคนที่ทำงาน 11 ชม. ต่อวัน การแบ่งเวลาสัก 20-30 นาทีระหว่างทำงานให้ตัวคุณเองได้ผ่อนคลายและปล่องวางก็คงจะไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรมากมาย จริงไหม ?

 5 . ใช้ชีวิตอย่างมีสติ

             ชีวิตของแต่ละคนเต็มไปด้วยเรื่องยุ่งเหยิงเป็นปกติ งานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่า คนหนึ่งคน มีความคิดแล่นเข้ามาในสมองมากกว่า 60,000 ชุด ซึ่งถ้าคุณเอาแต่นั่งคิดวกไปวนมา คุณคิดเสียดายอดีตที่ผ่านมา และคุณเอาแต่ระแวงอนาคตที่ยังไม่ได้มาถึง คุณอาจจะพลาดอะไรบางอย่างในปัจจุบันไปก็ได้

             การใช้ชีวิตอย่างมีสติก็คือก็โฟกัสที่ปัจจุบันของคุณในทุก ๆ เวลานั่นแหละ เพราะปัจจุบันของคุณ คือการเรียนรู้จากอดีต และเป็นต้นเหตุของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าหากว่าคุณเอาแต่เสียดายอดีต เอาแต่หวาดผวากับอนาคต คุณจะไม่สามารถโฟกัสที่ปัจจุบันของคุณได้เลย สิ่งที่สำคัญที่สุดของคุณก็คือปัจจุบันของคุณ อดีตมีวให้คุณเรียนรู้จากมัน และอนาคตมีผลลัพธ์ที่กำลังรอจะเกิดขึ้นจากปัจจุบันของคุณเนี่ยแหละ เพราะฉะนั้น ตั้งสติกับตัวเอง พาตัวเองหลับมาอยู่ในปัจจุบัน แล้วคุณจะพบว่าตัวจิตใจของคุณ เบาขึ้น สบายใจ และโฟกัสได้มากขึ้น

6 . หยุดผลัดวันประกันพรุ่ง

             “ พรุ่งนี้แล้วกัน “ เป็นคำที่หลายคนอาจจะได้ยินแล้วเอือมจนเบ้ปากไปตามๆกันก็ได้ แต่การผลัดวันประกันพรุ่งนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้ความรับผิดชอบของคนหนึ่งคน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะการผลัดวันประกันพรุ่งก็เหมือนกับการหลีกหนีความรับผิดชอบในปัจจุบัน แล้วผลักไปเป็นความรับผิดชอบในอนาคตแทน แล้วสิ่งที่คุณจะต้องระวังก็คือ ถ้าหากว่าคุณรู้สึกสบายใจที่ได้ “ ผลัด “ หน้าที่รับผิดชอบบางอย่างของตัวเองออกไป นั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ดีแล้ว เพราะว่า นั่นหมายความว่าคุณสบายใจที่จะไม่ทำสิ่งที่คุณจะต้องรับผิดชอบ คุณกำลังทำให้ตัวเองเคยชินกับการ “ ไม่รับผิดชอบ “ อะไรบางอย่างอยู่

             เชื่อว่าคงจะไม่มีใครบนโลกไม่มีความรับผิดชอบอะไรเลยสักอย่างแน่นอน จะมีแต่คนที่มีความรับผิดชอบกับบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น และละเลยสิ่งจำเป็นสิ่งอื่นไป คุณอาจจะต้องหันกลับมาทบทวนกับตัวเองดูให้ดีว่า มีเรื่องไหนที่คุณมองเห็นและยอมรับว่าจำเป็นกับความสำเร็จที่คุณอยากได้ แล้วคุณยังเก็บมันเอาไว้ทำ “ พรุ่งนี้ “ อยู่อีกหรือเปล่า ? คำถามที่คุณอาจจะต้องถามตัวเองก็ได้ “ ถ้าวันนี้คุณทำไม่ได้ คุณจะเอาอะไรมารับประกันว่าพรุ่งนี้คุณจะทำได้ ? “

 7 . มีวินัยกับตาราง

             ตารางชีวิตที่คุณวางเอาไว้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คุณรู้ว่า ช่วงเวลาไหน มีอะไรที่คุณจะต้องรับผิดชอบบ้าง เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณสร้างสมดุลย์ในชีวิตของตัวคุณเอง ดังนั้นข้อสุดท้ายนี้เลยก็คือ จงมีวินัยกับตารางของตัวคุณเองซะ

             เพราะในกิจกรรมแต่ละวันของคุณจะเต็มไปด้วยกิจกรรมหลายรูปแบบ และทุกคนจะมีกิจกรรมบางอย่างที่รู้สึกว่า ยากเหลือเกินที่จะทำมัน บางคนติดกับการพักผ่อน การอยู่สบาย จนไม่ได้รับผิดชอบหน้าที่การงาน และในทางกลับกัน บางคนบ้างาน ตัวติดกับงานตลอดเวลา จนไม่ได้รับผิดชอบร่างกายตัวเองก็มี การมีวินัยในตารางของตัวเองก็คือ การทำในสิ่งที่ต้องทำ ในเวลาที่ต้องทำ ไม่ว่าคุณจะอยาก หรือไม่อยากทำมันก็ตาม

 p>{Fullwidth}

Please Select Embedded Mode To Show The Comment System.*

ใหม่กว่า เก่ากว่า

สื้อโฆษณา

ออนไลน์บ้านผือนิวส์