เป็นครั้งแรกที่รอมาเนิ่นนาน ที่คนกรุงเทพมหานครรอคอยมา 9 ปีเต็ม หากนับตั้งแต่ปี 2556 ที่จะได้ไปใช้สิทธิ ใช้เสียง เลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 65 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. - 17.00 น. เชื่อว่าหลายคนมีผู้ว่าฯ กทม.ในดวงใจอยู่แล้ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเขาจะมาช่วยพัฒนากรุงเทพฯ เมืองหลวงที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ และเป็น Travel Destination ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่ลืมคุณภาพชีวิตดีๆ ของชาว กทม.
แน่นอนว่าการพัฒนากรุงเทพมหานครนั้น จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการลงทุน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการก่อสร้างสาธารณูปโภค หรือโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ในหลายๆ ด้านที่ต้องมาจากการลงทุนหิน ดิน ทรายนั่นเอง
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดู งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ประกาศไว้ที่เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 64 โดยงบประมาณนี้จะมีระยะเวลาในการเบิกจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 - 30 ก.ย. 65 ซึ่งงบประมาณรายจ่ายปี 65 ของ กทม. รวมทั้งสิ้น 79,855 ล้านแบ่งดังนี้
1. งบรายจ่ายประจำ จำนวน 78,979 ล้านบาท
- งบกลาง จำนวน 14,417 ล้านบาท ยกตัวอย่างเช่น กรณีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับน้ำท่วม, กรณีค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนากรุงเทพมหานคร เป็นต้น
- งบประมาณสำนักงานในสำนักปลัด กทม. หน่วยงาน และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จำนวน 64,561 ล้านบาท
2. รายจ่ายของการพาณิชย์ของ กทม. จำนวน 875 ล้านบาท เช่น สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร, สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
นอกจากนี้หากเจาะลึกลงไปในงบประมาณที่หน่วยงานของ กทม. ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 65 มีดังนี้
1. สำนักการระบายน้ำ 7,004,723,861 บาท
2. สำนักสิ่งแวดล้อม 6,845,454,756 บาท
3. สำนักการโยธา 6,455,586,600 บาท
4. สำนักการแพทย์ 4,439,365,100 บาท
5. สำนักการจราจรและขนส่ง 3,871,137,900 บาท
6. สำนักการคลัง 2,996,974,710 บาท
7. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 2,812,332,400 บาท
8. สำนักอนามัย 2,113,644,000 บาท
9. สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว 1,309,339,200 บาท
10. สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 912,610,510 บาท
อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าสำนักการระบายน้ำ ได้รับการจัดงบประมาณปี 65 มากที่สุด หากแยกลงไปในรายละเอียดจะพบว่ามีโครงการพัฒนาที่แก้ปัญหาน้ำท่วมในวงเงิน 2,245 ล้านบาท ดังนี้
- โครงการจัดทำและพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำเชิงรุก 67 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างแก้มลิงสวนน้ำเสรีไทย ช่วงคลองระหัสถึงคลองครุ 28 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ และประตูเรือสัญจรคลองแสนแสบตอนคลองบางชัน (ครั้งที่ 2) 80 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบบาบัดน้ำเสีย ธนบุรี สัญญาที่ 1 งานก่อสร้าง ระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรี และสวนสาธารณะ 252 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสีย ธนบุรี สัญญาที่ 2 งานกอ่สร้าง ระบบรวบรวมน้ำเสีย พื้นที่ส่วนเหนือ (เขตบางพลัด และบางส่วนของเขตตลิ่งชัน และเขตบางกอกน้อย) 293 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสีย ธนบุรี สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย พื้นที่ส่วนใต้ (เขตบางกอกน้อย และเขตบางกอกใหญ่) 225 ล้านบาท
งบประมาณ กทม. 6 ปี ใต้ปีกกับผู้ว่าฯ อัศวิน
สำหรับ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก
คสช.ตั้งแต่ปี 2559 ก็นับเป็นเวลา 6 ปีแล้ว
โดยมีการตั้งงบประมาณไม่ต่ำกว่าปีละ 70,000 ล้านบาท
และยังมีการของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในบางปี
ปี 2559 งบประมาณ 70,424 ล้านบาท
ปี 2560 งบประมาณ 75,635 ล้านบาท
ปี 2561 งบประมาณ 79,047 ล้านบาท
ปี 2562 งบประมาณ 80,445 ล้านบาท
ปี 2563 งบประมาณ 83,398 ล้านบาท
ปี 2564 งบประมาณ 76,451 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากเราได้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 นี้ก็จะยังอยู่จนกว่าจะมีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร หรือ สภา กทม.เพื่อเคาะงบประมาณรายจ่ายในปี 2566 ที่จะใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 - 30 ก.ย.66 ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ว่าฯ กทม. จะดำเนินนโยบายอะไรเพื่อพัฒนากรุงเทพฯ เป็นอย่างแรกนั่นเอง