ออนไลน์บ้านผือนิวส์

ย้อนดูผลงานผู้ว่าฯ ทำตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ หรือนโยบายหาเสียง

ย้อนดูผลงานผู้ว่าฯ ทำตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ หรือนโยบายหาเสียง

หากย้อนดูผลงานของผู้ว่าฯ ที่ได้รับเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง จะเห็นได้ว่ามีทั้งที่มาจากสิ่งที่เคยหาเสียงและไม่ได้หาเสียงไว้ และน่าสังเกตว่าผลงานหลายเรื่องที่เกิดขึ้นซึ่งไม่ได้หาเสียงไว้ สอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพฯ ที่จัดทำทุก 5 ปีอยู่แล้ว หรือแม้แต่สิ่งที่หาเสียงไว้ก็ดูคล้ายจะมาจากแผนพัฒนากรุงเทพฯ ในแต่ละยุค

ข้อมูลจาก "Rocket Media Lab" ชวนย้อนสำรวจดูผลงานเด่นของผู้ว่าฯ กทม. ในแต่ละยุค เพื่อดูว่าแท้จริงแล้ว ผลงานของผู้ว่าฯ มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่

ผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง 4 คนแรกคือ ชำนาญ ยุวบูรณ์, อรรถ วิสูตรโยธาภิบาล, ศิริ สันติบุตร และสาย หุตะเจริญ เป็นข้าราชการที่มาจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องบริหารกรุงเทพฯ ภายใต้แผนแม่บทของกระทรวงมหาดไทย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้ง ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าฯ คนแรกจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหาเสียงจะแก้ไขปัญหาขยะ น้ำท่วม และสร้างสวนสาธารณะ ได้เข้ามาทำงาน ซึ่งดำเนินการตามที่หาเสียงไว้ เช่น การดำเนินการสร้างสวนสาธารณะสวนจตุจักร

ผู้ว่าฯ ต่อมาอีก 4 คนที่มาจากการแต่งตั้ง ได้แก่ ชลอ ธรรมศิริ, เชาวน์วัศ สุดลาภา, เทียม มกรานนท์ และอาษา เมฆสวรรค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วง ปี 2520-2528 มีผลงานเด่น ในการริเริ่มแนวคิดย้ายตลาดนัดออกจากสนามหลวง ริเริ่มศูนย์อํานวยการประสานงานการป้องกันนํ้าท่วม 24 ชม. ริเริ่มจ้างบริษัทเอกชนมาเก็บขยะ และสร้างสวนเสรีไทย ตามลำดับ

เลือกตั้งผู้ว่ากทม

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2520-2524 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2525-2529 เช่น การดูแลปรับปรุงซ่อมแซมยานพาหนะเก็บขนมูลฝอยและขนถ่ายปฏิกูลให้ทั่วถึง และการดำเนินการด้านระบบป้องกันน้ำท่วม

สำหรับจำลอง ศรีเมือง การหาเสียงในการเลือกตั้งสมัยแรก ปี 2528 เน้นไปที่ตัวบุคคล คือตัวจำลอง เองมากกว่าเรื่องนโยบาย หากจะมีนโยบายที่เด่นชัดเห็นจะเป็นเรื่องการป้องกันการทุจริตของข้าราชการ กทม. แม้จะมีบางเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในนโยบายการหาเสียง

แต่เมื่อจำลอง เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ แล้วทำได้ จนกลายเป็นภาพจำ นั่นก็คือนโยบายด้านความสะอาด มีการขยาย “โครงการ กรุงเทพฯ เมืองสะอาด” ของ เทียม มกรานนท์ มาใช้อย่างเข้มงวด จนทำให้กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองสะอาดน่าอยู่ 1 ใน 10 ของโลก นอกจากนี้ในยุคนั้นยังเริ่มมีการใช้เสื้อสีสะท้อนแสงของพนักงานกวาดถนนอีกด้วย

ในสมัยที่ 2 จำลองเน้นการแก้ปัญหาจราจรโดยการขยายถนน และเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการสร้างรถไฟลอยฟ้า เพื่อแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และยังมีการเดินเรือขนส่งในคลองแสนแสบเป็นครั้งแรกอีกด้วย นอกจากนี้อีกหลายนโยบายที่หาเสียงไว้ก็มาสำเร็จในยุคหลัง เช่น สะพานลอยข้ามแยกเกษตร

หรือมีการสานต่อในยุคของกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา อดีตรองผู้ว่าฯ ในยุคของจำลองและเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนต่อมา เช่น การสานต่อเรื่องรถไฟลอยฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่กฤษฎาใช้เป็นนโยบายหาเสียงด้วย

นอกจากนี้ กฤษฎา ยังมีผลงานที่ชัดเจนในเรื่องอื่น เช่น สวนสาธารณะจากภูเขาขยะ สอดคล้องกับนโยบายที่หาเสียงไว้ว่าจะสร้างสวนสาธารณะ 10 แห่ง ส่วนการริเริ่มระบบควบคุมสัญญาณไฟอิเล็กทรอนิกส์ (ATC) นั้นที่แม้จะเกิดขึ้นในยุคของกฤษฎา แต่ก็เป็นไปตามแผนพัฒนาฉบับที่ 4 พ.ศ. 2535-2539 ที่ให้มีการปรับปรุงและติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรตามทางแยกด้วยระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว

พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าฯ อีกคนหนึ่งที่มีผลงานเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ แม้ว่านโยบายสำคัญ เช่น รถรางไฟฟ้าเลียบคลอง หรือสภาประชาคมจะไม่สำเร็จ แต่รถตู้มวลชนที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ตรงกับที่หาเสียงไว้ ส่วนการริเริ่มสร้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไม่ปรากฏว่ามีการหาเสียงไว้และไม่อยู่ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 4

ขณะที่นโยบายของสมัคร สุนทรเวช ที่เสนอให้สร้างแฟลตฝักข้าวโพด สำหรับผู้มีรายได้น้อยเกิดขึ้นได้ตามแผน ส่วนผลงานการตั้งศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่เกิดขึ้นในยุคสมัคร เป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 5-6

ส่วนอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่หาเสียงไว้จะฟื้นฟูสภาพแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองใส 1,165 คลองสอดคล้องกับผลงานโครงการ 10 สวนสวย 10 คลองใส 10 ถนนสะอาด และยังได้ริเริ่มแนวคิดปรับปรุงคลองช่องนนทรีไว้อีกด้วย

สำหรับสุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ ที่ได้รับเลือกตั้ง 2 สมัยและดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีการจัดทำแผนพัฒนากรุงเทพระยะ 12 ปี และระยะ 20 ปี มีผลงานเป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้หลายด้าน ที่ชัดเจนที่สุดคือ การให้คำมั่นว่าจะติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้น 20,000 ตัว ในสมัยที่ 2 อาจเป็นผลมาจากเหตุระเบิดกลางกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งสมัยแรก

อีกทั้งจำนวนกล้องวงจรปิดยังถูกจัด เป็นตัวชี้วัดหนึ่งของมหานครปลอดภัย ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปีด้วย ส่วนนโยบายโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนที่หาเสียงไว้ก็เป็นไปตามการหาเสียงเช่นกัน

ส่วนผลงานของอัศวิน ขวัญเมือง เข้ารับตำแหน่งจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่าง ปี 2559-2565 เชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลกลางอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างคือ การปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง เป็นไปตามแผนขยายการดำเนินการปรับภูมิทัศน์คลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และคลองอื่นๆ ทั่วกรุงเทพมหานครของรัฐบาลที่สนับสนุนงบประมาณให้กรุงเทพมหานคร

จะเห็นได้ว่า ผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่ดำเนินงานตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ ที่กำหนดไว้อยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ว่าฯ บางคนสามารถนำเอานโยบายของตนเอง หรือสิ่งที่ตนเองเคยหาเสียงไว้มาปรับใช้เป็นโครงการต่างๆ ได้ เนื่องด้วยในแผนพัฒนากรุงเทพฯ วางกรอบไว้กว้างๆ ในประเด็นปัญหาอมตะและเรื้อรังของกรุงเทพฯ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจราจร น้ำท่วม พื้นที่สีเขียว ฯลฯ ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนล้วนพยายามแก้ปัญหานั้นตามที่หาเสียงไว้ เพียงแค่ว่าแก้ได้แค่ไหน อย่างไรเท่านั้นเอง.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

Please Select Embedded Mode To Show The Comment System.*

ใหม่กว่า เก่ากว่า

สื้อโฆษณา

ออนไลน์บ้านผือนิวส์