ออนไลน์บ้านผือนิวส์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับความตั้งใจเจียระไนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองระดับโลก ไม่หวั่นข้อจำกัด ผู้ว่าฯ มีอำนาจน้อย

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับความตั้งใจเจียระไนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองระดับโลก ไม่หวั่นข้อจำกัด ผู้ว่าฯ มีอำนาจน้อย

Summary
  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตอาจารย์วิศวะ จุฬาฯ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์) ผู้ถูกจดจำในภาพลักษณ์คนทำงาน กับฉายา ‘บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ ซึ่งชื่อของเขาแทบจะไม่เคยหายไปจากสื่อเลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา
  • ในการเลือกตั้งปี 2562 เขาคือหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และตัดภาพมาล่าสุด ชัชชาติคือผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ประกาศตัวเป็นผู้สมัครอิสระ
  • กรุงเทพมหานครมีสารพัดปัญหาที่รอให้ผู้ว่าฯ คนใหม่เข้ามาแก้ไข นี่ไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายสำหรับชัชชาติหรือใครเลย แต่เมื่อชายที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ ชาวกรุงเทพฯ คาดหวังอะไรจากได้บ้าง ในบทสนทนานี้มีคำตอบซึ่งน่าจะก่อความคาดหวังขึ้นในใจของหลายๆ คน


ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตอาจารย์วิศวะ จุฬาฯ เคยมีบทบาทสำคัญทางการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

ผลงานที่กระทรวงคมนาคมในยุคของเขาอยากจะทำแต่ไม่ได้ทำ และยังเป็นกรณีที่ถูกพูดถึงบ่อยอยู่ในทุกวันนี้คือ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในเวลานั้นต้องการใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท 

แม้ปรากฏตัวในสนามการเมืองช่วงไม่นานนัก แต่เขาก็โดดเด่นและเป็นที่จดจำในภาพลักษณ์คนทำงาน กับฉายา ‘บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ ที่เป็นขวัญใจชาวโซเชียล และชื่อของเขาแทบจะไม่เคยหายไปจากสื่อเลย มีสารพัดมุกจากจินตนาการสุดบรรเจิดของคนในสังคมออนไลน์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเล่นกับภาพลักษณ์ ‘ความแข็งแกร่ง’ ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรี จนถึงทุกวันนี้ มุกทำนองนี้ยังไม่หายไปจากบทสนทนาในสังคมออนไลน์ แม้ว่ากลุ่มคนที่เล่นมุกอาจเปลี่ยนวัย เปลี่ยนรุ่นไปแล้ว

จากรัฐมนตรีคมนาคม หลายปีต่อมาเขาคือหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2562 

ตัดภาพมาล่าสุด ชัชชาติคือผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ประกาศตัวเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่ได้ลงในนามเพื่อไทย 

แม้เคยพูดว่าไม่สนใจหมายเลข แต่เมื่อจับได้หมายเลข 8 เจ้าตัวก็บอกว่าชอบ เพราะมันคือรูปเครื่องหมายอินฟินิตี้ ที่มีความหมายว่าไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนมีพลังทำงานไม่หยุดหย่อน 

คนในสังคมมีการพูดกันเล่นๆ จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่า ชัชชาติสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ เนื่องจากปรากฏการณ์ป้ายหาเสียงขนาดผอมๆ ของเขาที่ใหญ่กว่าเสาไฟเพียงนิดหน่อย ได้รับคำชมว่าไม่บดบังสายตา และไม่เกะกะทางเท้า ทำให้ผู้สมัครหลายคนต้องเปลี่ยนไซส์ป้ายหาเสียงตาม

กรุงเทพมหานครมีสารพัดปัญหาที่รอให้ผู้ว่าฯ คนใหม่เข้ามาแก้ไข นี่ไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายสำหรับชัชชาติหรือใครก็ตามที่จะเข้ามา 

เมื่อชายที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ชาวกรุงเทพฯ คาดหวังอะไรจากเขาได้บ้าง 

ในบทสนทนานี้ที่เราไปนั่งคุยกับชัชชาติในดงดอกไม้ที่ย่านปากคลองตลาด มีคำตอบซึ่งน่าจะก่อความคาดหวังขึ้นในใจของหลายๆ คน


ได้ข่าวว่าคุณไม่ชอบการเมือง จริงไหม 

ไม่ชอบการเมืองเหรอ ก็ไม่ได้ชอบมากหรอก แต่คำว่า ‘การเมือง’ คืออะไร ความขัดแย้ง? คือผมชอบทำงาน ถ้ามีเรื่องการเมืองเรื่องความขัดแย้งแบบไม่ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องการทำงาน ก็ไม่ชอบตรงนั้น ถ้าการเมืองแล้วได้ทำงาน อันนี้โอเค ผมไม่กังวลเรื่องความขัดแย้งในเนื้องาน แต่กังวลเรื่องความขัดแย้งที่เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ความรุนแรง ความเกลียดชัง อันนั้นไม่ค่อยชอบ ส่วนความขัดแย้งในเนื้องานไม่ได้กลัวเลย เพราะว่าเราเป็นผู้บริหารก็ต้องบริหารความขัดแย้งอยู่แล้ว การที่มาลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็หวังว่าความขัดแย้งเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานมันจะน้อยลง และได้มาทำงานให้เต็มที่มากขึ้น 


แต่เตรียมใจที่จะเผชิญกับความขัดแย้ง?

อ๋อ เจออยู่แล้วครับ แต่อย่างที่บอกแหละ ความขัดแย้งในเนื้องานไม่กลัวนะ อย่างความขัดแย้งในเรื่องที่จะทำเรื่องหาบเร่แผงลอย อันนี้เป็นความขัดแย้งที่ต้องบริหาร แต่ถ้าความขัดแย้งแบบเป็นเรื่องการปลุกความเกลียดชัง อันนี้ผมว่าไม่มีใครชอบหรอก จริงไหม ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง


ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ ตอนนี้ รัฐบาลจะมองว่าอยู่คนละฝั่งกับเขา แล้วอาจจะเจอความขัดแย้งที่เลี่ยงไม่ได้หรือเปล่า คิดว่าจะทำอย่างไร 

ทำไมเขาถึงจะมองอย่างนั้นล่ะ เราไปคิดล่วงหน้าว่าเขาจะคิดอย่างนั้นอย่างนี้ ผมว่าหลักการคืออย่าไปตัดสินว่าคนอื่นเป็นยังไง เราก็ไปด้วยความคิดบวก เพราะเรามาด้วยประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ฉะนั้นเราอย่าไปคิดว่ารัฐบาลเขาต้องมองเราเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ก็เราประกาศแล้วว่าเราเป็นผู้สมัครอิสระ เราพร้อมจะทำงานกับทุกคน ขอให้เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง 


แต่โดยปกติเราก็เห็นความขัดแย้ง แม้ว่าไม่ใช่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองก็ตาม อย่างก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯ ก็ไม่ใช่ขั้วตรงข้ามรัฐบาล แต่เราก็เห็นความขัดแย้งของหน่วยงานคนละระดับ อย่างเช่น กทม.ประกาศอย่างหนึ่ง รัฐบาลประกาศยกเลิก กทม.ต้องเจออะไรแบบนี้อยู่ คุณเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร 

บางอย่างต้องมีการคุยกัน มีการประสานงานกัน ผมว่าความขัดแย้งพวกนี้มันจะไม่เกิดขึ้นถ้ามีการคุยกัน แต่หลายอย่างอาจจะไม่ได้มีการคุยกัน หรือไม่มีหน่วยงานที่เป็น single command หรือศูนย์สั่งการรวม จริงๆ แล้วอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร ผมคิดว่าเราต้องมีการจัดตั้งอะไรขึ้นมาเพื่อลดความขัดแย้ง อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องอคติต่อกัน อาจจะเป็นความบกพร่องในการสื่อสารมากกว่า 


มั่นใจว่าจะประสานระหว่างภาครัฐต่างๆ ได้ไม่มีปัญหา?

ได้ ก็เอาประชาชนเป็นหลังพิง เพราะเราถือว่าเราเป็นตัวแทนคนกรุงเทพฯ ถูกไหม เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานโดยการเอาประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก ประสานงานด้วยผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของรัฐบาลนะ ฉะนั้นอะไรที่มันค้านผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ เราก็ต้องยืนซัดน่ะ


คุณเห็นด้วยไหมว่าผู้ว่าฯ กทม. เหมือนเป็นพ่อบ้าน ไม่มีอำนาจบริหารจัดการมากเท่าที่ควร อำนาจบริหารจัดการตนเองของ กทม. ยังน้อยไป 

ก็เห็นด้วยว่า กทม. ไม่ได้มีอำนาจครบถ้วน ยกตัวอย่างเรื่องจราจร เราก็ไม่มีอำนาจอยู่บนถนน ตำรวจจราจรเป็นคนกำกับดูแลไฟจราจร โรงพยาบาล กทม.ก็ดูแลแค่ 12 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเตียง ที่เหลือเป็นของหน่วยงานอื่น แต่อันนี้มันคือเงื่อนไขที่เราต้องยอมรับในการเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. เราจะมาบ่นว่า “โอ๊ย กทม.ไม่มีอำนาจ ผู้ว่าฯ กทม.ไม่มีอำนาจ” แล้วบอกว่าทำไม่ได้ อันนี้ก็ไม่ได้ เพราะว่าเรารู้เงื่อนไขนี้แล้วเราอาสามาเป็น มันก็เหมือนเงื่อนไขหลายๆ อย่างในชีวิตที่เราต้องรับให้ได้ แต่ว่าถ้าเราอยากให้เปลี่ยนแปลง เราอาจจะพูดไปถึงรัฐบาลว่าตรงนี้เป็นจุดอ่อน เปลี่ยน พ.ร.บ. ให้หน่อยได้ไหม แต่นั่นมันนอกเหนืออำนาจเรา ผมว่าถ้าเรามาตรงนี้ก็อย่าไปเวิ่นเว้อกับเรื่องข้อจำกัดมาก ทำในจุดที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด


เพราะ ณ เวลาที่ตัดสินใจจะเข้ามา ทุกคนรู้ข้อจำกัดนี้อยู่แล้ว? 

ใช่ (ลากเสียงยาว) มันเหมือนคุณไปเล่นมวยปล้ำน่ะ คุณก็รู้ว่ามีข้อจำกัดอย่างนี้ ถูกไหม คุณจะบอกว่าข้อจำกัดมันหยุมหยิม ตอนคุณจะขึ้นเวทีแล้ว มันไม่ได้ แต่คุณอาจจะพูดนอกวงได้ว่าข้อจำกัดนี้มันไม่ดีนะ บอกให้ผู้มีอำนาจช่วยเปลี่ยนแปลงหน่อย แต่มันคนละเรื่องกับการไปปล้ำบนเวที


งั้นถ้าถามความเห็น คุณอยากผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็น อปท.พิเศษ ที่มันพิเศษจริงๆ บริหารจัดการตัวเองได้มากกว่านี้ มีอำนาจมากกว่านี้ไหม

ก็ดีนะ ผมว่ามันก็ควรจะมี อย่างเรื่องจราจร เรื่องอะไรที่เป็นชีวิตของคนจริงๆ ก็ควรจะให้มีอำนาจ อย่างน้อยผู้ว่าฯ กทม.ควรได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ผมคิดว่าเขาไม่ค่อยไว้ใจผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ยกตัวอย่างผังเมืองจังหวัด ทั่วประเทศจะมีผังเมืองแต่ละจังหวัด ซึ่งประธานผังเมืองจังหวัดคือผู้ว่าราชการจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพฯ ที่ประธานผังเมืองจังหวัดคือปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็แปลกดีนะ คนที่เลือกตั้งมากลับไม่ให้เป็นประธานผังเมืองจังหวัด แต่กลับให้คนที่แต่งตั้งมาเป็นประธานผังเมือง ผมว่าเขาไม่ค่อยไว้ใจคนที่มาจากการเลือกตั้ง อันนี้คือมุมมอง 

จริงๆ แล้วก็ควรจะให้ กทม. มีอำนาจมากขึ้นเหมือนกับเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก อย่างโตเกียว ผมเพิ่งคุยกับคนญี่ปุ่น โอ้โห โตเกียวนี่ผู้ว่าการเมืองเขามีอำนาจมาก ทำให้การบริหารเมืองเป็นเบ็ดเสร็จรวมศูนย์มากขึ้น


ถ้าได้เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ จะเห็นการผลักดันเรื่องนี้ไหม

อย่างที่เรียนว่ามันอยู่นอกอำนาจของเรา เพราะผู้ที่ปรับได้ต้องเป็นสภาฯ โดยเปลี่ยน พ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร เราพูดได้ เราอาจจะแนะนำไปยังรัฐบาลได้ แต่อย่าไปหวังว่ามันจะเสร็จ เพราะฉะนั้นเราอย่าบริหารด้วยเงื่อนไขว่าจะต้องแก้กฎหมายให้เรา 


เห็นนโยบายที่สื่อสารออกมาเป็น ‘9 ด้าน 9 ดี’ มันอยู่ใต้แกนใหญ่ 4 ด้านที่พูดก่อนหน้านี้ใช่ไหม นโยบาย 200 กว่านโยบายมาจากการสำรวจความเห็นประชาชน และมาจากไหนอีกบ้าง 

ใช่ครับ 4 ด้านนั้นคือตัวขับเคลื่อน คือ People, Economy, Digital และ Green เป็นกรอบหลักของนโยบาย ซึ่งเราก็มีความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ และจริงๆ แล้ว ‘9 ด้าน 9 ดี’ มันมาจาก The Global Liveability Index ของ Economist Intelligence Unit (EIU) ที่เขาใช้วัดเมืองน่าอยู่ มันมี 5 ด้าน 30 ตัวชี้วัด เราทอนมาเป็น ‘9 ด้าน 9 ดี’ มันก็ครอบคลุมมิติของทุกคน แนวคิดของเราคือ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน พอวัดทุกคนแล้วแต่ละคนมีปัญหาในชีวิตต่างกัน ซึ่ง 200 นโยบายมันก็แตะชีวิตคนในบางด้าน


ปัญหากรุงเทพฯ มีเยอะหลายด้านมาก จำไม่ได้ว่าผู้สมัครคนไหนพูดว่าปัญหาของกรุงเทพฯ ต้องแก้ด้วยวิศวกรรมศาสตร์ แต่คุณไม่เห็นด้วยใช่ไหม เคยเห็นพูดบนเวทีว่าแก้ด้วยวิศวะอย่างเดียวไม่ได้ แล้วคุณคิดว่าจำเป็นต้องมีศาสตร์อะไรอีกบ้าง

ใช่ ถ้าเราใส่เลนส์วิศวะเราก็จะเห็นทุกอย่างเป็นวิศวะหมด เหมือนถ้าเราคิดว่าเราเป็นค้อน เราก็จะเห็นทุกคนเป็นตะปูหมด แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะว่ามันอาจจะมีวิธีอื่น นั่นหมายความว่า หลักก็คือควรจะถอดแว่นวิศวกรออกแล้วใส่แว่นที่มีหลากหลายสี มันอาจจะมีเรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องสาธารณสุข เรื่องการศึกษา เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องความเท่าเทียมกัน เรื่อง LGBTQ+ ซึ่งบางทีเราก็ไม่รู้หรอก ฉะนั้นถ้าคุณจะเอาแว่นวิศวกรไปแก้ปัญหาทุกอย่าง มันก็ทำให้เราขาดองค์ประกอบสำคัญไป ฉะนั้นเราต้องมีทีมมาช่วยกันหลายด้าน ซึ่งเราก็มีทีมผู้เชี่ยวชาญเป็นร้อยคน 18 ด้าน ที่มาช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เราไม่รู้ 


จะพูดได้ไหมว่า การที่มองหลายด้าน ไม่ได้มองแค่วิศวกรรมศาสตร์ มันถือเป็นจุดขายหนึ่งของผู้สมัครที่ชื่อชัชชาติ ในขณะที่คนอื่นเขามองด้วยแว่นวิศวะมากเกินไป 

ผมก็ไม่อยากพูดถึงคนอื่นนะ แต่ในมุมมองผม เราต้องมีทีมที่หลากหลาย จะทำให้เรามองเห็นปัญหาหลายด้าน อย่างเรื่องน้ำท่วม ถ้าเป็นวิศวะอาจจะมองแต่เรื่องอุโมงค์ระบายน้ำ แต่ถ้าเรามองหลากหลาย อาจจะมองถึงเรื่องการเก็บขยะ เรื่องวิธีการขุดลอกท่อ มันอาจจะมีคำตอบอื่น อย่างการสร้างจิตสำนึกของชุมชน ซึ่งอันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุโมงค์ระบายน้ำ มันอาจจะมีคำตอบอื่นซึ่งเป็นคำตอบเชิงสังคม หรือเชิงอื่นที่ไม่ได้ใช้วิศวะ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีทีมที่หลากหลาย คำตอบมันจะครบถ้วนขึ้น ผมว่ามันต้องเหมือนตัว T คือเรารู้ลึกในบางเรื่อง และรู้กว้างในหลายๆ เรื่อง 


การระบายน้ำ การเก็บขยะ เป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นนโยบายที่ทุกคนต้องทำต้องมีในทุกสมัยการเลือกตั้ง แล้วคุณจะแก้ปัญหาพวกนี้ได้ต่างจากคนอื่นอย่างไร 

นโยบายคุณภาพชีวิตนี่ผมคิดว่าเราพยายามเน้นเรื่องเส้นเลือดฝอย ที่ผมพูดมาหลายหน เราเอาโครงสร้างเมืองมาใช้เปรียบเทียบกับร่างกายคน เส้นเลือดใหญ่ก็คือระบบใหญ่ๆ ที่ลงทุนเมกะโปรเจกต์ ส่วนเส้นเลือดฝอยคือลงไปถึงชุมชน ผมว่าหลายๆ ครั้งเราเอาเงินไปลงเมกะโปรเจกต์เยอะ เราทำอุโมงค์ระบายน้ำเป็นสองสามหมื่นล้าน ทำรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าหลายๆ สีเป็นแสนแสนล้าน แต่เราลืมฟุตปาท เราลืมท่อระบายน้ำหน้าบ้าน เราลืมขุดลอกคลอง 

เราต้องทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรง ส่วนเส้นเลือดใหญ่เราก็ไม่ทิ้งนะต้องไปด้วยกัน ขณะเดียวกันต้องอย่าไปลงทุนกับเส้นเลือดใหญ่มากเกินไปจนไม่มีเงินสำหรับเส้นเลือดฝอย เพราะจริงๆ แล้วคุณภาพชีวิตหลายๆ อย่างไม่ได้ขึ้นกับเส้นเลือดใหญ่หรอก จะตายหรือจะเป็นขึ้นอยู่กับเส้นเลือดฝอยที่นำอากาศมาส่งให้แต่ละอวัยวะในร่างกาย ถ้าเราไม่ได้ลอกท่อ เรามัวแต่เอาเงินไปทำอุโมงค์ระบายน้ำ สุดท้ายน้ำก็ไม่ไปถึงอุโมงค์ ถ้าเราไม่เคยดูแลศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้านเลย เรามีแต่ทำโรงพยาบาลใหญ่ๆ ประชาชนก็จะไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาล หรือเรื่องโรงเรียน เรามีโรงเรียนระดับโลกอยู่ในเมือง มีโรงเรียนอินเตอร์ แต่โรงเรียนใกล้บ้านไม่มี ก็ไม่มีประโยชน์ 


จากที่มีการเปิดให้รายงานปัญหาเส้นเลือดฝอย เห็นปัญหาอะไรเยอะ แต่ละเขตมีความคล้ายความต่างอย่างไร 

ปัญหาคือเรื่องท่อระบายน้ำ เรื่องจุดทิ้งขยะ เรื่องถนนหนทาง น้ำท่วมขัง ก็คือเรื่องเส้นเลือดฝอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นอะไรที่เราสามารถทำได้ทันทีในสัปดาห์แรกเลย เพราะว่าเรามีแอปพลิเคชันที่ทำร่วมกับ สวทช. อยู่แล้ว แต่ตอนนี้เราไม่มีอำนาจไปแก้ไข เราก็ได้แต่เก็บข้อมูลไว้ อะไรพวกนี้มันไม่ได้ใช้ตังค์เยอะ แต่เป็นการเอาพลังของประชาชนมารวมกัน อนาคตแอปฯ พวกนี้อาจจะใช้ประเมินผู้ว่าฯ ได้นะ เราเลือกผู้ว่าฯ ทุก 4 ปี แต่แอปฯ นี้อาจจะให้คนโหวตผู้ว่าฯ ได้ทุกเดือนเลยว่าคุณชอบหรือไม่ชอบ อยากให้ผู้ว่าฯ ปรับปรุงอะไร แทนที่จะรอเลือกผู้ว่าฯ 4 ปี ก็ด่าผู้ว่าฯ ได้ทุกเดือน เป็นฟีดแบ็กที่เร็ว ผมว่ามันดีที่มีคนมาติชมเรา เราจะได้ปรับปรุงตัวให้สอดคล้องกับความต้องการ


ปัญหาจราจร เป็นปัญหาหนึ่งที่คนคาดหวังว่าวิศวกรรมอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ คุณมีแนวทางจะทำอย่างไรกับปัญหาจราจร

ผมว่ามันก็หลายเรื่องนะ มันเป็นเรื่องพฤติกรรมด้วย ไม่ใช่แค่วิศวกรรมอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือเรื่องขนส่งมวลชน ต้องมีขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพง สะดวก ปลอดภัย ซึ่งในปัจจุบันรถเมล์ยังเป็นปัญหา ฉะนั้น กทม. ต้องเลือกเดินรถเมล์เองในราคาไม่เกิน 10 บาท จะต่อกี่สายก็ได้ และให้คนแก่กับเด็กขึ้นฟรี 

ส่วนรถไฟฟ้า ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะว่าบีทีเอสอยู่ใต้การดูแลของ กทม. หลังจากที่สัญญาสัมปทานหมด รายได้ทั้งหมดจะเป็นของ กทม. แต่ กทม.ไปเซ็นสัญญาจ้างบริษัทหนึ่งเดินรถ เพราะฉะนั้นต้องดูว่ารายได้เท่าไร รายจ่ายเท่าไร ซึ่งตอนนี้ข้อมูลไม่ค่อยมี หาไม่เจอ อันนี้จะมีผลว่าเราจะลดราคาค่าโดยสารได้ไหม ถ้าลดค่าโดยสารได้ก็จะทำให้คนมานั่งรถไฟฟ้ามากขึ้น ใช้รถส่วนตัวน้อยลง และเราต้องทำทางเดินให้ดีขึ้น ให้คนมีทางเลือกในการเดิน 

เราต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย กรุงเทพฯ นี่จราจรเป็นจลาจล เพราะว่ามีหลายหน่วยงานดูแล เราทำ single command ได้ไหม ให้ กทม.เป็นเจ้าภาพและลงทุนเทคโนโลยี เพื่อให้นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการไฟจราจร ปัจจุบันต่างคนต่างกดแต่ละแยก ไม่มีการรวบรวมข้อมูลและตัดสินใจเป็นหนึ่งเดียว 

และอีกหลายๆ เรื่อง ผมว่าต้องพยายามทำให้คนเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัว โจทย์อาจจะไม่ใช่ทำให้รถหายติดนะ แต่โจทย์คือให้ประชาชนมีทางเลือกที่คล่องตัวขึ้น เราต้องมีทางเลือกที่ดีให้เขาด้วย ไม่ใช่บอกเขาว่าอย่าใช้รถยนต์ แต่คุณไม่ได้เตรียมทางเลือกไว้ให้เขาเลย 


ค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะทำให้ถูกลงได้อย่างไร 

ก็อยากทำให้ถูกลง แต่มันยังไม่ถึงเวลาคืนสัมปทานมาให้ กทม. น่าจะเป็นปี 2572 และมีการต่อสัญญาจ้างเดินรถไปถึงปี 2585 ถ้าเราบริหารให้มีรายได้มากกว่าค่าจ้างการเดินรถ เราก็สามารถลดค่าโดยสารได้ แต่ถ้าเขาไปจ้างเดินรถแพงมาก กทม.ก็ลดค่าโดยสารลงไม่ได้ เพราะว่าขาดทุน ผมไม่เคยเห็นสัญญาจ้างเดินรถ ก็เลยตอบไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วมันควรจะมีเงินเหลือเท่าไร ลดค่าโดยสารได้เท่าไร 


คุณเคยพูดเรื่องทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง จะทำอย่างไร

ก็คือลดค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งก็คือบริการของ กทม.ที่มีอยู่แล้วต้องขยายให้มันครอบคลุมขึ้น เช่น จัดศูนย์เด็กเล็กให้เด็ก 3 เดือนถึง 3 ขวบ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โรงเรียนต้องเรียนฟรีจริงๆ ขยายเวลาดูแลเด็กให้ถึง 5 โมงเย็น โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่ต้องมารับเด็กก่อนเวลาเลิกงาน และเรื่องชุดนักเรียนก็ต้องฟรี สวัสดิการการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ มีการไปตรวจดูแลผู้ป่วยติดเตียงถึงบ้าน ลดต้นทุนที่ กทม. รับผิดชอบเรื่องการเดินรถ อย่างที่บอกเรื่องรถไฟฟ้า ถ้าลดต้นทุนได้ก็ต้องลด 

หลักคือเราคงไม่ได้เอาเงินไปแจก เพราะเราไม่มีเงินพอหรอก แต่เราเพิ่มบริการที่มีอยู่ให้ครบถ้วนครอบคลุม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าเราดูแลเรื่องเด็กให้ดี ถ้าคุณภาพโรงเรียนดีขึ้น พ่อแม่ก็ต้องไม่ต้องจ่ายค่ากวดวิชา ลดค่าใช้จ่ายได้ ถ้าเราบริการสาธารณสุขให้ดี ให้มั่นใจว่าเขาปลอดภัย เขาก็อาจจะไม่ต้องไปซื้อประกันสุขภาพแพงๆ เป็นการลดค่าใช้จ่ายโดยเพิ่มบริการของเราให้เต็มที่มากขึ้น 


เห็นมีนโยบายที่เกี่ยวกับคนไร้บ้านเยอะ อยากให้แชร์ข้อมูลหน่อยว่าได้ไปศึกษาเจอข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง 

ก็ไม่ได้เยอะมากครับ แต่ก็พอมี เราก็คุยกับคนที่ทำโครงการ และไปดูเองบ้างนิดหน่อยแถวราชดำเนิน ตรอกสาเก ซึ่งได้ข้อมูลตรงกันว่าจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น จากเมื่อก่อนมีสักพันคนตอนนี้ สามสี่พันคนแล้วมั้ง ผมว่าปัญหาหลักอันหนึ่งคือ กทม.ปิด ‘บ้านอุ่นใจ’ ไปแล้ว เมื่อก่อนมีบ้านอุ่นใจที่ให้คนอยู่ชั่วคราว อย่างน้อยมีที่พักพิงค้างคืน อาบน้ำอาบท่าแล้วออกมาหางานทำได้ เขาก็ค่อยๆ หลุดพ้นจากระบบคนไร้บ้าน แต่พอปิดบ้านอุ่นใจ คนไร้บ้านไม่มีที่ไป สุดท้ายก็มานอนอยู่แถวริมราชดำเนิน ตรอกสาเก 

กทม.ต้องทำ กทม.ต้องเป็นเจ้าบ้าน ต้องทำทะเบียนคนไร้บ้าน ให้มั่นใจว่าเขาได้รับสิทธิ์จริงๆ ตามที่รัฐบาลกำหนด เพราะว่าเขามีสิทธิ์หลายอย่างซึ่งเขาไม่รู้ ต้องให้เขาได้สิทธิ์ของประชาชนทั่วไป ต้องมองว่าเขาเป็นประชาชน ผมว่าบ้านอุ่นใจน่าจะเปิดให้คนเข้ามา แล้วอาจจะเป็นจุดศูนย์รวมการบริจาคอาหารด้วย เพราะที่ผ่านมาคนเอาอาหารไปบริจาคริมถนนเยอะ คนไร้บ้านก็จะมารอรับอาหารแถวนั้น ทำให้เขาไม่ไปไหน ทำให้เกิดสภาพนอนอยู่ริมถนน แต่ถ้าเราเปลี่ยนบ้านอุ่นใจให้เป็นที่พักพิงชั่วคราว มีการบริจาคอาหารและบริจาคสิ่งของในที่เดียวกัน มันยิ่งจะดึงดูดให้คนเข้ามาอยู่บ้านอุ่นใจ เข้าสู่ระบบ ไม่ใช่ไปช่วยเหลือกันริมถนน ผมว่านี่จะทำให้เขาหลุดจากวงจรได้ แทนที่จะให้เขาไปรับของริมถนนแล้วก็นอนริมถนน

ส่วนกลุ่มอิสระถ้าเขาไม่เข้ามาก็ไม่เป็นไร แต่เราต้องทำทะเบียนบันทึกไว้ว่าเขาอยากจะไปไหน เราไม่ได้ไปฝืนใจเขา แต่คนที่เต็มใจก็มี เชื่อว่ามีคนที่อยากอาบน้ำแล้วออกไปหางาน ทุกเช้าจะมีคนไปหางาน ถ้าเรามีบ้านอุ่นใจ อาจจะมีคนมาหาแรงงานที่บ้านนี้ก็ได้ แทนที่จะไปจอดรถกระบะอยู่ริมคลองคูเมืองเพื่อหาแรงงาน


เรื่องคน จะทำอย่างไรให้คนอยากมีลูก ทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าเขาไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยตัวเองเพียงลำพัง ให้เห็นว่ารัฐจะร่วมดูแลลูกเขาในฐานะทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ

ผมว่าต้องทำให้คนไม่กลัว ให้คนรู้สึกว่ามี safety net มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงน้อยที่จะมีลูก เช่น การทำศูนย์เลี้ยงเด็ก ทำโรงเรียนที่มีคุณภาพ ทำโรงเรียนใกล้บ้าน ทำการจราจรที่มีคุณภาพ ทำทางเดินที่เดินไปโรงเรียนได้ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้เขาเห็นว่าการเลี้ยงลูกไม่ได้เหมือนกับไปเล่น Squid Game ที่อันตรายเสี่ยงชีวิต ให้เห็นว่ารัฐ provide ได้ 

ผมชอบอ่านของอาจารย์ป๋วยนะ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ คือรัฐดูแลตั้งแต่เกิดเลยได้ไหม ไม่ได้บอกว่าให้เงินนะ แต่ให้บริการ ให้เขารู้สึกว่าการมีลูกไม่ได้เสี่ยงมากหรอก อาจจะไม่ต้องถึงขนาดหมดเนื้อหมดตัว เริ่มจากการศึกษา สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต คุณภาพอากาศ ทำอย่างไรให้ดีขึ้นได้ ถ้าทำได้ผมก็เชื่อว่าคนน่าจะอยากมีลูก แต่คนเขากลัวว่าลูกจะต้องมาสูดควันพิษ กลัวว่าหาโรงเรียนดีๆ ไม่ได้ ต้องราคาแพงเท่านั้น คนกลัวเรื่องกวดวิชา กลัวเรื่องไม่มีคนเลี้ยงลูก นี่คือปัจจัยที่กดดันให้คนไม่อยากมีลูก


ด้านเศรษฐกิจมองอย่างไร มีนโยบายอย่างไรบ้าง 

ก็มีหลายด้านนะ เรามีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ 50 ย่าน 12 เทศกาล ดูว่ามีเทศกาลอะไรที่จะสามารถจะทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในย่านได้ ให้เป็นเทศกาลที่อยู่บนปฏิทินโลก ให้คนรู้ว่าเดือนนี้ต้องมาเมืองไทย อย่างตรงนี้ ‘ปากคลองตลาด’ ก็เป็นย่านหนึ่งที่เข้มแข็ง เป็นย่านดอกไม้ขนาดใหญ่ แต่ที่ผ่านมามันทรุดโทรมลง คนมาน้อยลง จะทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นให้ปากคลองตลาดกลับมาเป็นย่านระดับโลกได้ ทำอย่างไรจะทำให้เทศกาลดอกไม้ของไทยเป็นเทศกาลระดับโลกได้ เราจะเอาปากคลองตลาดมาเจียระไนอย่างไรให้มันเป็นเปล่งประกายไปทั่วโลกได้ และจะทำให้เศรษฐกิจของเมืองดีขึ้น ก็เป็นเหตุผลที่เรามาตรงนี้ แล้วเราจะไปดูย่านแบบนี้ทั่วกรุงเทพฯ เราจะหาเทศกาลดีๆ มาเปล่งประกายให้คนทั้งโลกเห็น 

ผมว่าด้านเศรษฐกิจเราต้องคิดใหญ่เหมือนกัน คิดว่ากรุงเทพฯ ในอนาคตจะเป็นอะไร อยากจะให้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจไหม ศูนย์กลางเรื่องสตาร์ทอัพ หรือศูนย์กลางเรื่องบริษัทข้ามชาติไหม ถ้าเราอยากให้เมืองมีความหวัง ต้องมีงานที่ดีๆ เข้ามา มีการสร้างงานขึ้นมา เราจะทำบรรยากาศยังไงให้เกิดสิ่งพวกนี้ขึ้นได้ เราต้องมีการร่วมมือกับบีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ร่วมมือกับการท่องเที่ยวฯ  แทนที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมที่ได้บีโอไออยู่แค่ในต่างจังหวัด เราอาจจะมีตึก office building ที่ได้บีโอไอ แล้วดึงบริษัทข้ามชาติมา ให้แรงจูงใจเรื่องภาษีเขา ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นการสร้างงานให้คนกรุงเทพฯ มากขึ้น

และผมมีความคิดเรื่อง Made in Bangkok คือซื้อของที่ทำในกรุงเทพฯ ทำแพลตฟอร์มให้ขายของ ผมไปงาน Bangkok Design Week เห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง เรารวบรวมแบรนด์พวกนี้เข้าแพลตฟอร์มเป็น Made in Bangkok ได้ไหม ทำแบรนด์ในกรุงเทพฯ ให้เข้มแข็ง เหมือนแอปฯ Pinkoi ของไต้หวัน กทม.เป็นเจ้าภาพได้ไหม อาจจะเป็นแบบ analog ก็ได้ อาจจะเป็นตลาดกลางขายของ ให้เด็กรุ่นใหม่มีโอกาส และเราเน้นซื้อผลิตภัณฑ์ Made in Bangkok ก่อนได้ไหม เช่นผมไปหนองจอก ชาวนาที่หนองจอกถามว่าทำไมโรงเรียนใน กทม.ไม่ซื้อข้าวจากหนองจอกก่อน เราให้วิสาหกิจชุมชนหนองจอกสีข้าวเองแล้วขายข้าวให้ กทม. ก็จะเป็นการหมุนเวียน ช่วยคน กทม. จากเงิน กทม. แนวคิดพวกนี้คือการคิดในมิติใหม่ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความเจริญก้าวหน้า 

แต่ผมว่าต้องคิดใหญ่ด้วย เราอยากจะเป็นเมืองอะไรของโลก อนาคตจะทำอะไร อันนี้ต้องคิดคู่ไปกับเรื่องเล็กๆ เรื่องเส้นเลือดฝอย


แล้วคุณอยากให้เป็นเมืองอะไร ถ้าดูจากที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยว

ท่องเที่ยวได้ แต่ผมเชื่อว่ามีคนอยากมาอยู่กรุงเทพฯ เยอะ และผมเชื่อว่ากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางธุรกิจได้ เพราะตอนนี้ถ้าเราดูที่อื่น อย่างสิงคโปร์ก็ราคาแพง ช่วงโควิด ผมว่าคนก็ไม่อยากอยู่แต่ในคอนโดหรอก ก็อยากอยู่แบบมีพื้นที่ หรืออย่างฮ่องกง คนก็เริ่มย้ายออกเยอะ เพราะเขาไม่มั่นใจอนาคต เพราะฉะนั้นเราต้องแข่งขันในการดึงคนจากประเทศเหล่านี้มา ผมว่าเราเป็นศูนย์กลางได้ คนอยากมาอยู่เมืองไทยเยอะนะ ญี่ปุ่นนี่เขาไม่เคยอยากไปไหนเลย เราจะทำยังไงให้คนอยากมาเปิดบริษัทที่เรา ให้ต่างชาติมาสร้างงาน ผมอยากให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาค และอาจจะเป็นศูนย์กลางการประชุม (MICE) ศูนย์กลางธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือศูนย์กลางธุรกิจอีสปอร์ตได้ไหม มีหลายอย่างเลยที่อยากจะทำให้มันมีคุณภาพได้


ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ต้องปรับปรุงกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะเป็นได้อย่างที่อยากให้เป็น 

ผมว่าต้องเข้าใจปัญหา ต้องอย่ามองว่าธุรกิจเป็นศัตรู ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ช่วยผลักดันเมืองก็คือธุรกิจ ก็คือคนที่สร้างงาน อาจจะมีธุรกิจบางประเภทที่เอาเปรียบคน หรือขี้โกง เราก็ต้องจัดการ ปล่อยไว้ไม่ได้ แต่ผมว่าธุรกิจส่วนใหญ่คือธุรกิจที่โอเค และเขาเป็นคนที่สร้างงานให้เมือง 

ถ้าเราตั้งป้อมรังเกียจธุรกิจ รังเกียจคนที่มาลงทุน จะไม่มีใครกล้ามาลงทุนหรอก ฉะนั้นผมว่าต้องมองด้วยใจที่เปิดว่าธุรกิจเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมือง เราต้องเอาเขามาเป็นพวกในการขับเคลื่อนเมือง กทม.ต้องไปคุยกับเขา เรามีแนวคิดที่จะตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนเลยนะ ให้เอกชนเข้ามาคุยกันกับกรุงเทพฯ ว่าปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการคืออะไร เราต้องเอาเขามาเป็นเพื่อน และช่วยเขาแก้ปัญหา ต้องคุยกันให้บ่อย และ กทม.ต้องหาจุดที่เขาต้องการให้ปรับปรุงให้ดีขึ้น เขาต้องการโครงสร้างพื้นฐานอะไร เขาต้องการกฎระเบียบอะไรที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น กทม.อาจจะเป็นตัวแทนไปคุยกับรัฐบาลด้วยซ้ำ เพื่อที่จะผลักดันให้ดีขึ้น 


เท่าที่ประเมินดู ยากไหม ต้องใช้เวลาเท่าไร

ไม่ยากหรอก เพราะเรามีจุดแข็ง เราเหมือนเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน พอเราเจียระไนแล้วมันจะเปล่งประกายเป็นเมืองระดับโลกได้เลย ผมว่ามันเป็นเรื่องมุมมอง อยู่ที่วิถีคิด ผมว่าคนอยากมาเที่ยวเมืองไทยเยอะแยะเลยนะ ขอแค่เราปรับปรุงอะไรที่เป็นจุดอ่อน ผมว่าหลายๆ อย่างเป็นเรื่องกฎระเบียบ เรื่องการได้สิทธิ์ทางภาษี ซึ่งถ้าเราทำเองไม่ได้ เราต้องเป็นตัวแทนในการคุยกับรัฐบาล เพราะว่าอันนี้มันคือสิ่งที่ขับเคลื่อนเมือง


ก็คือนอกจากเป็นเมืองที่น่าเที่ยวแล้ว จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ และน่าลงทุน?

ใช่ ถ้าถามว่าเมืองคืออะไร เมืองคือตลาดแรงงานนะ เรามาอยู่ในเมืองเพราะว่าเรามีงาน ถ้าเราไม่มีงานเราก็อยู่ในเมืองไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ขับเคลื่อนเมืองคืออะไร ก็คือธุรกิจนั่นแหละที่เป็นตัวสร้างงาน ที่ทำให้เรามาอยู่รวมกันเป็นเมืองได้ ถ้าเมืองไม่มีธุรกิจก็อยู่ยาก ธุรกิจมันสำคัญ และมันทำให้เมืองมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษี 

เราบอกว่าเราต้องการเป็นรัฐสวัสดิการที่ให้บริการประชาชน แต่เราก็ไม่เคยคิดเรื่องการหารายได้ ไม่เคยคิดเรื่องการทำให้เศรษฐกิจดี มันเหมือนเรามีเค้กอยู่ก้อนหนึ่งแล้วเราไปแบ่งเสี้ยวมากขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการ แล้วเงินที่เหลือสำหรับทำอย่างอื่นจะน้อยลง วิธีที่จะทำสวัสดิการให้ดี ไม่ใช่เรื่องคิดแต่เรื่องแจก ต้องคิดเรื่องการเพิ่มขนาดเค้กให้ใหญ่ขึ้น ถ้าเรามีธุรกิจมีบริษัทดีๆ มาจ่ายภาษีมากขึ้น เค้กมันจะใหญ่ขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะได้เสี้ยวเดิม แต่พอเค้กมันใหญ่ขึ้น เสี้ยวที่เราได้ก็ใหญ่ขึ้น ฉะนั้นผมคิดว่าการที่ กทม.จะช่วยเหลือประชาชนได้ดีขึ้น เศรษฐกิจของเมืองต้องดีด้วย 


เห็นศักยภาพของกรุงเทพฯ ในเขตต่างๆ อย่างไรบ้าง อยากให้ยกตัวอย่างอื่นๆ นอกจากปากคลองตลาด 

ยกตัวอย่างหนองจอกเป็นเขตเกษตรกรรม มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมากเลย มีผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งผมว่าคนกรุงเทพฯ ก็โหยหานะ เราก็อยากไปเที่ยวนั่งเรือ เดินตลาดน้ำริมคลอง หรือถ้าไปดูย่านโยธี ตรงนั้นคือย่านพยาบาล มีโรงพยาบาล 11 แห่ง เราทำให้ย่านนี้เป็นศูนย์สาธารณสุขระดับโลกได้ไหม หรือถ้าเราไปดูแถวลาดกระบังก็เป็นแหล่งโลจิสติกส์ อยู่ใกล้สุวรรณภูมิ เราทำตรงนี้ให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์ที่ดีได้ไหม หรืออย่างเยาวราช ย่านเมืองเก่า ก็มีจุดแข็งของตัวเอง หรือถ้าไปดูฝั่งธน ย่านคลองสาน ก็มีวัฒนธรรมเก่าแก่ มีพหุวัฒนธรรม

แต่ละจุดมีเรื่องราวทั้งนั้น แต่ว่าเรายังเล่าเรื่องไม่ค่อยเก่ง ถ้าเราลงไปพื้นที่เราก็จะเห็นด้านดีๆ ที่สร้างให้เป็นไวรัลไปทั่วโลกได้ มันคือการเจียระไนประสบการณ์ในแต่ละย่าน ทำสตอรี่ ทำเรื่องราว แล้วก็เล่าออกไป สุดท้ายมันก็จะมีคนมาเดินกระตุ้นเศรษฐกิจ


มีตัวอย่างเมืองในใจไหม เมืองที่เป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ และดูแลวิถีชีวิตคนในเมืองได้ดี 

แต่ละเมืองก็มีหลายจุดนะ ถ้าเมืองที่ชอบจริงๆ ผมชอบไทเป เพราะว่ามันเป็นเมืองที่คล้ายกรุงเทพฯ มากเลย มีธุรกิจเอสเอ็มอี คนก็นิสัยคล้ายๆ กัน มีตลาดโต้รุ่ง มีตลาดนัด ซึ่งเขาจัดการได้ดี เขามีมอเตอร์ไซค์หลายสิบล้านคันเลย วิถีชีวิตคล้ายๆ คนไทย ผมว่ามีหลายอย่างที่เราเรียนรู้จากเขาได้ ไม่ได้เป็นเมืองที่เกินเอื้อม เป็นเมืองที่เราสามารถปรับให้เป็นอย่างเขาได้ และเขามีการจัดการขยะที่ดีมาก 


เรื่องสิ่งแวดล้อมวางแนวทางปฏิบัติไว้อย่างไร ในทางปฏิบัติมันทำยากไหม เรามักจะเห็นการเลือกเศรษฐกิจแล้วละเลยสิ่งแวดล้อม

ไม่ยากนะ ผมว่าบางอย่างไม่ต้องใช้ตังค์เลย อย่างเรื่องฝุ่น PM 2.5 มันขึ้นอยู่กับความเข้มงวด เช่นวันแรกผู้ว่าฯ ประกาศเลยว่าอากาศเป็นสิทธิ์พื้นฐานของคนกรุงเทพฯ ต้องทำทุกอย่างเพื่อลด PM 2.5 ต้องกำจัดรถที่มีควันดำ PM 2.5 กทม.ต้องเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ปล่อยให้กรมขนส่งทางบกทำ กทม. อาจจะไปตรวจเอง อาจจะต้องลงไปดูต้นทางถึงปลายทางเลย ไปดูไซต์ก่อสร้าง หรือถ้ามีรถปล่อยควันพิษก็ต้องยึดใบอนุญาต เราต้องเอาจริง ผมว่าหลายๆ อย่างแทบไม่ได้ใช้ตังค์เลย 

สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญนะ ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดีเมืองก็อยู่ไม่ได้ ก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย มันก็เป็นหนึ่งในนโยบาย 9 ด้านของเรา


เราขาดพื้นที่สาธารณะทั้งแบบพื้นที่สีเขียวกลางแจ้งและแบบในร่ม มีแนวทางจะสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างไร 

ผมว่าต้องมีอินโนเวชั่นหน่อย เรามีนโยบายกรุงเทพ 15 นาที อยากให้คนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ใน 15 นาที ผมคิดว่าขั้นแรกต้องไปลุยหาพื้นที่ราชการ อาจจะเป็นโรงเรียน เป็นวัด โรงเรียนเปิดเสาร์-อาทิตย์ได้ไหม  แทนที่เด็กจะต้องไปเตะฟุตบอลตามถนน ให้เขาไปเตะในโรงเรียนได้ไหม พื้นที่สีเขียวก็ต้องมี เรามีพื้นที่ราชการที่ว่างอยู่ เริ่มแรกใช้ที่รัฐก่อน แล้วต่อไปอาจจะใช้ที่เอกชน อาจจะเช่าที่เอกชนที่เขาไม่อยากจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แทนที่เขาจะปลูกมะนาวปลูกกล้วย เราอาจจะเช่าเขา 10 ปี หรือ 15 ปี ผมเชื่อว่ามีที่เยอะที่จะทำพื้นที่สีเขียวได้ 


คำถามนี้อยู่บนสมมติฐานว่าผู้ว่าฯ คนที่ผ่านๆ มาเขาก็คงตั้งใจทำงานกันอยู่พอสมควร คุณคิดว่ามีอุปสรรคอะไรที่ทำให้เขาทำงานยาก และหลายอย่างไม่สำเร็จ 

ก็คงมีเรื่องคนมั้ง ผมว่าทุกแห่งนะ ไม่ว่าจะอยู่บริษัทไหนก็ตาม เรื่องคนก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเขาเป็นคนที่ carry on ผมคิดว่าอยู่ที่ว่าเราให้ความสำคัญกับคนแค่ไหน เราเอาคนเก่งมาทำงานไหม เราเลือกใช้คนถูกไหม เรื่องคนหรือเรื่องวิธีคิดของคนมันถูกต้องไหม และเรื่องยุทธศาสตร์ก็สำคัญนะ มีหลายครั้งที่บริษัทเดินยุทธศาสตร์ผิด ใช้ยุทธศาสตร์ที่ไม่ตอบโจทย์ 

เรื่องกฎระเบียบก็สำคัญ บางทีกฎระเบียบมันหยุมหยิมเกินไป ไม่ทันสมัย ทำให้เราไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เพราะฉะนั้นกฎระเบียบที่ล้าสมัยต้องยกเลิกทั้งหมด ต้องปรับกฎระเบียบให้ทันสมัย ให้อัปเดตขึ้น อย่างเรื่องผังเมือง กฎระเบียบอาจจะไม่ได้เอื้อมาก และสุดท้ายอาจจะเป็นเรื่องมีงบประมาณจำกัด แต่ว่าอันนี้ก็คงเป็นเงื่อนไขของทุกบริษัท ทุกจังหวัด ทุกประเทศ คงไม่ได้มีเงินแบบ infinite ก็คงต้องมีเงินจำกัดเหมือนกัน

 

เป็นเรื่องที่สังคมเห็นค่อนข้างตรงกันว่าข้าราชการทำงานเช้าชามเย็นชาม แต่คุณเชื่อมั่นว่าข้าราชการ กทม. มีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนนโยบายตั้ง 200 กว่านโยบาย คุณจะมีวิธีกระตุ้นการทำงานของพวกเขาอย่างไร 

ก็คงต้องเลือกคนที่ทำงานได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ให้ไปพักก่อน ผมว่าก็คงต้องมีตัวชี้วัดให้ชัดเจน ก็ไม่ได้หวังให้เขาทำงานจนลืมครอบครัวนะ แต่ต้องทำให้เต็มกำลัง ผมว่าข้าราชการส่วนใหญ่เป็นคนที่โชคดีอยู่แล้วในเวลานี้ ขณะที่ประชาชนเดือดร้อนรายได้ไม่แน่นอน แทบไม่มีจะกิน แต่ข้าราชการทุกคนยังมีความแน่นอน มีสวัสดิการเยอะแยะเลย ฉะนั้นต้องสำนึกตรงนี้ และต้องเอากลับไปให้ประชาชน ทำงานให้คุ้มกับเงินเดือนที่เขาให้แค่นั้นก็พอแล้ว


ในมุมมองของคุณ ผู้บริหารท้องถิ่นที่สังกัดพรรคการเมือง กับไม่สังกัดพรรคการเมือง มีข้อดีและข้อเสียต่างกันอย่างไร 

ผมว่าอย่างผมที่ไม่มีพรรคก็ง่ายดีนะ เราทำงานได้เร็วขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการพรรค ไม่ต้องมีใครมาตัดสิน เราเลือกทีมงานด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องมีพรรคส่งมา เราหาทีมงานมาช่วยได้เยอะขึ้น เพราะว่าบางคนเขาเบื่อการเมือง ส่วนข้อด้อยก็คือเราไม่มีฐานเสียงในพื้นที่ เราไม่มีระบบหัวคะแนน อาจจะทำให้เราเข้าถึงคนได้ยากขึ้น ผมว่าก็ต้องแลกกันระหว่างข้อดีกับข้อเสีย ผมมีความสุขกับแบบนี้ ผมมีความสนุกแบบนี้มากกว่าตอนทำงานอยู่ในพรรค


คุณมี ‘สภากาแฟ’ เป็นพื้นที่ให้คนเข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ฟีดแบ็กเป็นอย่างไรบ้าง 

โอ๊ย… ดีนะ ทำให้เรารู้ว่าปัญหาคืออะไร ซึ่งแต่ละท้องที่ก็ไม่เหมือนกัน บางที่มีปัญหาเรื่องการจราจร บางที่เรื่องน้ำท่วม บางที่เรื่องขยะ ก็รวบรวมข้อมูลแล้วมาประมวลกัน ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วผู้บริหารต้องฟังเยอะๆ ต้องเข้าใจประชาชน แล้วก็หาคำตอบที่มันเหมาะกับแต่ละย่าน


คนที่มาร่วม ส่วนใหญ่เป็นคนวัยไหน 

มีทุกวัยเลย มีตั้งแต่วินมอเตอร์ไซค์ มีชุมชน มีร้านกาแฟ มีเด็กรุ่นใหม่ หลากหลาย แต่ตอนนี้ก็ต้องหยุดไว้ก่อน เพราะติดเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง 


ใช้วิธีอย่างไรดึงดูดคนเข้าร่วม 

คนที่มาร่วมก็คือทราฟฟิกที่อยู่ในร้าน พอเขาเห็นว่าน่าสนใจเขาก็มาแสดงความเห็น มันเป็นออร์แกนิกไม่ใช่เราต้องไปกดดันว่าต้องมาทำ เราเกาะกระแสของร้านกาแฟเขา และกระแสของวินมอเตอร์ไซค์ที่มีคนมาใช้บริการ บางแห่งอาจจะมีคนเยอะ บางแห่งอาจจะไม่มีคน แต่ภาพรวมเราก็รู้สึกว่าดี ได้ประโยชน์ 

เราต้องมีอย่างนี้เยอะขึ้น ผมว่าที่ผ่านมาเราไปดิจิทัลกันเยอะ พออยู่ในดิจิทัลเยอะ เราจะอยู่ในกลุ่มที่คิดเหมือนเหมือนกัน มันทำให้เกิด echo chamber เราฟังและสะท้อนสิ่งที่เหมือนๆ กัน แต่พอเรามาอยู่สภากาแฟที่เป็น analog เราจะเจอคนที่หลากหลาย ก็จะบริหารความขัดแย้งได้ดีขึ้น รู้สึกว่าได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่คิดต่าง ถ้าเราอยู่กันแต่ในโซเชียลมีเดีย สุดท้ายเราจะอยู่แต่กับคนที่คิดเหมือนกัน แล้วเราจะมีความโกรธแค้นถ้าคนคิดต่างจากเรา ผมว่าโลกโซเชียลบางทีมันเป็นขาวกับดำเยอะ มันคือถูกผิด ถูกผิด แต่โลกสภากาแฟมันคือโลก grey scale มีหลายเฉด พอมีหลายเฉดเราก็เริ่มบริหารจัดการความแตกต่างได้ดีขึ้น 

ก็น่ากลัวว่าโลกปัจจุบันเป็นดิจิทัลเยอะมาก มันเป็นไบนารีเหมือนคอมพิวเตอร์ มันจะแยกคนเป็นสองฝั่ง แล้วเราก็จะเลือกไปอยู่ฝั่งที่เรารู้สึกดี แต่ชีวิตจริงมันไม่ใช่ ชีวิตจริงคือเฉดสีที่แตกต่างกัน


คุณสนใจหลัก Design Thinking ได้นำมาปรับใช้ในการออกแบบนโยบายอย่างไรบ้าง  

Design Thinking มันมีกระบวนการอยู่ห้าขั้นคือ empathize คือความเข้าใจจิตใจ, define ระบุปัญหาให้เจอ แล้วก็ออกไอเดีย (ideate) แล้วก็ prototype คือทำแบบจำลอง แล้วก็ test คือทดสอบ 

เราต้องเข้าใจปัญหา ต้องลงไปคลุกให้เข้าใจจิตใจคนก่อน แล้วก็กำหนดปัญหา แล้วหาทางออกหลายๆ แบบ ทำต้นแบบ แล้วก็ทดสอบ นี่คือหัวใจของการทำนโยบายของเรา ที่เราทำมาทั้งหมดก็คือแบบนี้ เริ่มจากการลงไปสัมผัสกับปัญหาว่าปัญหาคืออะไร ช่วยกันคิดทางออก แล้วก็เลือกมา แล้วก็เริ่มทำ นี่คือกระบวนการ แต่มันต้องเริ่มจากว่าเราต้องไม่อยู่ในห้องแอร์ เราต้องลงไปสัมผัสชีวิตคน ลงไปเจอชุมชน empathize เขา และเข้าใจเขา แล้วเดี๋ยวเราจะหาปัญหาและหาคำตอบ


ดูแลร่างกายและจิตใจตัวเองอย่างไรให้แข็งแกร่งและพร้อมทำงานตลอด 

ออกกำลังกายครับ ออกกำลังกายหนัก ออกกำลังกายทุกวัน ร่างกายก็แข็งแรงและจิตใจก็แข็งแรง และนั่งสมาธิประกอบ และอย่าไปเครียดมาก ถ้าเครียดก็โทรคุยกับลูก ก็สบายใจขึ้น

 

Please Select Embedded Mode To Show The Comment System.*

ใหม่กว่า เก่ากว่า

สื้อโฆษณา

ออนไลน์บ้านผือนิวส์