ส่องค่าแรงขั้นต่ำในอาเซียน มาเลเซียปรับขึ้นก้าวกระโดด เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ
- การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในหลายชาติอาเซียนต้องหยุดชะงักจากวิกฤติโรคระบาด ในขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งราคาพลังงานและสงครามรัสเซียยูเครน
- มาเลเซียปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 35 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลชี้ช่วยเหลือประชาชนให้ลืมตาอ้าปากหลังโควิดระบาด ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญห่วงอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ
- ความคิดเห็นแตกเป็นสองเสียง หากค่าแรงขั้นต่ำในภูมิภาคปรับขึ้นอาจเสี่ยงทำให้นักลงทุนต่างชาติมองหาฐานการผลิตใหม่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่าอาเซียนยังมีแรงดึงดูดนักลงทุนทั้งความหลากหลายของแรงงาน รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
ข่าวแนะนำ
- ข่าวกรมศิลปากรจังหวัดเดียวที่มีมรดกโลก 2 แห่ง (1)
- ข่าวการเมืองบทบาทผู้ว่าฯ กทม (1)
- ข่าวเกษตรกรผลไม้ไทย (1)
- ข่าวท่องเที่ยวเปิดประตูสู่อีสาน เที่ยว 4 จังหวัด (1)
- ข่าวพายุฤดูร้อนลมแรงถล่มอำเภอบ้านผือ (1)
- ข่าวร้องทุกข์ (1)
- ฝึกอบรมป้องกันและแก้ไขปัญหา (1)
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโต เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนสร้างฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาปัญหาค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในภูมิภาคที่ยังคงปรับขึ้นไม่มากนัก แตกต่างจากค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในช่วงปีที่ผ่านมา
หนึ่งในปัจจัยที่ดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอาเซียน คือค่าแรงที่นับว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชียและยุโรป ทำให้หลายฝ่ายมองว่าหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเหล่านี้หนีหายจากภูมิภาคอาเซียนก็เป็นได้ ในทางกลับกันด้าน เดเนียล โคสต์เซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า อาเซียนยังมีปัจจัยดึงดูดการลงทุน ถึงแม้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับสูงขึ้น เช่นแรงงานที่หลากหลายและการทำงานอย่างมีวินัยซึ่งยังเป็นที่ต้องการของนายจ้าง
นอกจากนี้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่แรงงานพอใจ อาจนำไปสู่ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีที่มีราคาแพงและมีการดูแลรักษาที่ยุ่งยาก ขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ก็จะเป็นอีกแรงดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอาเซียน เพื่อเปิดประตูเข้าสู่ตลาดที่มีผู้บริโภคมากถึง 600 ล้านคน
การปรับขึ้นค่าแรงในแต่ละภูมิภาคนั้นมีความซับซ้อน แม้ว่าจะถูกมองว่าสามารถบรรเทาพิษเศรษฐกิจที่กระทบต่อบุคคลในช่วงที่ราคาข้าวของเครื่องใช้และน้ำมันแพง แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อนายจ้างภาคเอกชนที่อาจต้องลดเวลาการทำงาน หรือจ้างออกพนักงานบางส่วน
ถึงแม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศอาเซียน แต่ชาติอาเซียนก็ยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การปรับขึ้นค่าแรงต้องชะงักและไม่ได้เพิ่มมากตามที่คาดการณ์เอาไว้
ค่าแรงในอาเซียน
ในปี 2564 ค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนในประเทศกัมพูชาอยู่ที่ 192 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6,605 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นราว 68 บาทจากค่าแรงปีก่อนหน้า ซึ่งในช่วงทดลองงานค่าแรงก็จะต่ำกว่าที่ระบุเอาไว้
ส่วน อินโดนีเซีย ค่าแรงนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยในปี 2563 ค่าแรงขั้นต่ำในอินโดนีเซียค่าแรงไม่ได้ปรับขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจ โดย 34 จังหวัดของอินโดนีเซีย มีเพียง 5 จังหวัดเท่านั้นที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยค่าแรงจะถูกพิจารณาจากตัวเลขเงินเฟ้อบวกกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในเมียนมา ค่าแรงขั้นต่ำจะถูกพิจารณาในทุกๆ 2 ปี แต่หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การพิจารณาปรับฐานค่าแรงขั้นต่ำก็ถูกระงับชั่วคราว ทำให้ค่าแรงยังคงอยู่ที่ 3.07 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 105 บาทต่อการทำงาน 8 ชั่วโมง หลังจากนี้สหพันธ์การค้าเมียนมาเตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงเป็น 4.62 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 159 บาทต่อการทำงาน 8 ชั่วโมง
สปป.ลาว ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2561 เป็น 1.1 ล้านกีบ หรือราว 4,000 บาทต่อเดือน การพิจารณาขึ้นค่าแรงขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างสมาคมนายจ้าง องค์กรแรงงาน และผู้แทนรัฐบาล
ส่วนค่าแรงขั้นต่ำฟิลิปปินส์ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค โดยอยู่ที่ราว 6.57 ถึง 11.17 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 226 ถึง 385 บาทต่อวัน เมื่อปี 2564
เวียดนาม ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อต่อสู่กับวิกฤติเงินเฟ้อ ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำในเวียดนามขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่เช่นเดียวกัน หากเป็นเมืองใหญ่อย่างฮานอยและโฮจิมินห์ ค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ที่ราว 181 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6,242 บาท ส่วนภูมิภาคที่มีขนาดเล็กลงมาจะมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 132 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4,552 บาท ส่วนสิงคโปร์นั้นไม่มีค่าแรงขั้นต่ำที่ตายตัว
มาเลเซียปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 35 เปอร์เซ็นต์
เมื่อวันแรงงานที่ผ่านมา มาเลเซียได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายเดือน 35 เปอร์เซ็นต์ จาก 1,100 ริงกิต หรือราว 8,600 บาทต่อเดือน เป็น 1,500 ริงกิต หรือราว 12,000 บาทต่อเดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤติโรคระบาด และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ด้านซาราวานัน มูรูกัน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์มาเลเซีย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงนั้นมีปัจจัยในการพิจารณาหลักๆ คือ เส้นแบ่งความยากจน ค่าครองชีพ แนวทางการใช้ชีวิตของประชาชน รวมถึงเงินเฟ้อในประเทศ ด้านฮัสเซน เซย์ ฮัสมาน ประธานสหพันธ์นายจ้างมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิคเคอิ ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้สูงเกินไป และเป็นการส่งผลกระทบต่อนายจ้างภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลมาเลเซียนั้นมีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง โดยรัฐบาลมาเลเซียภายใต้นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ เตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งทางรัฐบาลมาเลเซียปัดตกข้อสังเกตเปรียบเทียบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกับการซื้อเสียง และยืนยันว่าต้องการปรับค่าแรงเพื่อช่วยเหลือชาวมาเลเซียเพื่อตั้งตัวหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และบริษัทเอกชนควรคาดการณ์การขึ้นค่าแรงดังกล่าว เนื่องจากตามกฎหมายระบุว่าจะมีการพิจารณาปรับฐานค่าแรงขั้นต่ำทุกปีอยู่แล้ว.